ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ เร็วขึ้นกรณีย้ายที่อยู่-เลื่อนขั้น

ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ เร็วขึ้นกรณีย้ายที่อยู่-เลื่อนขั้น

การเงิน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. รับทราบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สอดรับกับข้อห่วงใยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

1. กรณีการย้ายภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิในเดือนถัดไปทันที เพื่อไม่ให้เสียสิทธิการรับเงิน และกรมการปกครองจัดทำระบบที่สามารถตรวจสอบการย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุได้ รวมทั้งให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมบัญชีกลาง ตรวจสอบข้อมูลและคำนวณงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพื่อส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นได้อย่างถูกต้อง

2. การปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ วันที่ผู้สูงอายุมีอายุครบในเดือนนั้นทันที ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างปีงบประมาณ ทำให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 70 ปี, 80 ปี และ 90 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพในอัตราเดิมตลอดปีงบประมาณ จึงทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวเสียสิทธิ

ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นแบบขั้นไดตามช่วงอายุ ดังนี้

อายุ 60 – 69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
อายุ 70 – 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
อายุ 80 – 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท
3. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหลักเกณฑ์แนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพ เพื่อให้สามารถคำนวณการใช้จ่ายงบประมาณในการปรับอัตราการจ่ายเงินได้

4. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เร่งรัดการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และนำเข้าที่ประชุม กผส. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการแก้ไขระเบียบดังกล่าวด้วย

ข่าวการเงินแนะนำเพิ่มเติม : ธปท.ย้ำ ธุรกิจ ธุรกรรม Forex ในประเทศไทย ยังไม่เคยมีใครได้รับใบอนุญาต

ธปท.ย้ำ ธุรกิจ ธุรกรรม Forex ในประเทศไทย ยังไม่เคยมีใครได้รับใบอนุญาต

แบงก์ชาติ ย้ำ ธุรกิจ ธุรกรรม Forex ในประเทศไทย ยังไม่เคยมีใครได้รับใบอนุญาต

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า กรณีมีข่าวที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงให้ไปลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Forex โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูง แต่ไม่มีการนำเงินไปลงทุนหรือทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศจริง และมีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งสุดท้ายอาจไม่ได้รับเงินคืน ดังนี้

1. ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ประชาชนจะต้องทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น และปัจจุบัน ยังไม่เคยให้ใบอนุญาตแก่บุคคลทั่วไป ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไรในลักษณะการเทรด Forex บนแพลตฟอร์ม หรือเว็บไซต์ (พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

2. การประกอบธุรกิจ หรือมีส่วนร่วมกับธุรกรรม FOREX ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รับอนุญาต เช่น การให้บริการรับ-ส่งเงินเพื่อชำระธุรกรรม FOREX ทั้งในและต่างประเทศ มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

3. บุคคลซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ แต่ได้โฆษณาหรือเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน หรือเทรด FOREX จะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
นอกจากนี้ ในกรณี FOREX 3D จากข้อมูลที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดเผย สามารถใช้ข้อกฎหมายที่มีอยู่ในการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้

การเงิน.jpg3

1. ร่วมกันกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2. ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และ 3. ร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์

โดยก่อความเสียหายให้แก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยในกรณีนี้ แม้ไม่มีข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ธปท. แต่ ธปท. ได้ร่วมมือในการให้ข้อมูลที่อยู่ในความรับผิดชอบ ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบถามมาอย่างเต็มที่

โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกข่าวเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง